viewerbangkok

2010/01/22

วัดพระแก้ว [THE TEMPLE OF THE EMERALD BUDDHA]



สำหรับภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากองค์พระแก้วมรกตแล้วยังมีสิ่งสำคัญภายในนั้นอีกหลายอย่างเช่น ๑.บุษบกทองคำทรงพระแก้วมรกตสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่๑ แต่ในรัชกาลที่๑ตั้งบุษบกทองคำเหนือฐานชุกชี(ฐานชั้นล่าง)ต่อมาในรัชกาลที่๓ทรงโปรดฯให้นำชั้นเบญจาที่เคยรองรับพระโกศพระบรมศพรัชกาลที่๒ มาหนุนบุษบกให้สูงสมทรงอุโบสถขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ๒.บานทวาร(ประตู)ประดับมุกสร้างในรัชกาลที่๑เช่นเดียวกัน เป็นบานประตูที่สวยงามบ่งบอกถึงฝีมืออันประณีตวิจิตรของเหล่าช่างฝีมือในสมัยนั้นเป็นอย่างดี เท่าที่อ่านในประวัติวัดพระแก้ว เห็นว่าตั้งใจทำแข่งกับบานที่ทำครั้งแผ่นดินของพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งอยู่ที่วิหารยอดในวัดดนี้เองคู่หนึ่ง ส่วนอีกคู่หนึ่งอยู่ที่วัดพระมหาธาตุ(วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ)จังหวัดพิณุโลก ๓.พระพุทธรูปพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธรูปพระพุทธเลิศหล้านภาลัย(เคยกล่าวถึงมาแล้วก่อนหน้านี้)สองพระองค์นี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น เป็นพระพุทธรูปยืน หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เป็นแกนในแล้วหุ้มด้วยทองคำหนักพระองค์ละประมาณ๗๖กิโลกรัม ทรงเครื่องต้นอย่างพระเจ้าจักรพรรดิลงยาราชาวดีประดับด้วยเนาวรัตน์มีค่า พระองค์อยู่ฝ่ายเหนือเรียกพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์อยู่ฝ่ายใต้เรียกพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พร้อมกับเลือกพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์ ๔.พระสัมพุทธพรรณีเป็นพระสมาธิหล่อกะไหล่โลหะทอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดสร้างขึ้นตามแบบอย่างพุทธลักษณะ(คือไม่มีพระเกตุมาลาหรือเมาลี เหนือพระเศียรก็ถึงพระรัศมี จีวรเป็นริ้ว ทรงแสดงปางสมาธิและประทับนั่งขัดสมาธิราบ)และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้วยในภายหลัง ๕. พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร๑๗พระองค์ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์หุ้มทองคำตั้งเป็นคู่ๆ เหนือพระเบญจารองรับบุษบกทองคำทรงพระแก้วมรกต พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีโปรดฯให้สร้างอุทิศขึ้นอุทิศถวายแด่พระมหากษัตริย์และเจ้านายในพระราชวงศ์มาโดยลำดับหลังจากสวรรคตและสิ้นพระชนม์แล้ว ดังต่อไปนี้คือ
๑.องค์ที่ประดิษฐานอยู่มุมพระเบญจาชั้นบนทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
๒.องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมพระเบญจาชั้นบนทางด้านตะวันออกเฉียงใต้เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (ทรงเป็นวังหน้าในรัชกาลที่๑)
๓.องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมพระเบญจาชั้นบนทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือเป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี สมเด็จพระพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่๑
๔.องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมพระเบญจาชั้นบนทางด้านตะวันตกเยงใต้ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอองค์น้อยในรัชกาลที่๑
๕.องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมพระเบญจาชั้นรองทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
๖.องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมพระเบญจาชั้นรองด้านตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์(ทรงเป็นวังหน้าในรัชกาลที่๒)
๗.องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมพระเบญจาชั้นรองทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข(ทรงเป็นวังหลังในรัชกาลทื่๑)
๘.องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่มุมพระเบญจาชั้นรองทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ พระราชธิดาในรัชกาลที่๑
๙.องค์ที่ประดิษฐานอยู่บนฐานปูนด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่๓
๑๗.องค์ที่ประดิษฐานอยู่บนฐานปูนด้านตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในรัชกาลที่๓ +++มีข้อสังเกตคือ พระพุทธรูปที่ครองจีวรปลายแผ่ออกทั้งสองข้าง เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์หรือพระบรมราชวงศ์ฝ่ายหน้า ถ้าจีวรลีบตามรูปพระชงฆ์ เป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์พระบรมราชวงศ์ฝ่ายใน
๖.จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถเป็นภาพที่เขียนขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๑ ตามความนิยมในสมัยปลายอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ และในสมัยรัชกาลที่๓ ๗.สิงห์สัมฤทธิ์ทวารบาล มีทั้งหมด ๖คู่ เชื่อกันว่าคู่ที่ตั้งอยู่๒ข้างพระทวารกลางทางด้านทิศตะวันออกเป็นฝีมือช่างขอมที่รัชกาลที่๑โปรดฯให้ย้ายมาจากประเทศกัมพูชา ส่วนอีก๕คู่หล่อเลียนแบบขึ้นในสมัยนั้น ด้านข้างบันไดใหญ่หน้าปราสาทพระเทพบิดรทางทิศตะวันออกบนพื้นชั้นล่างทางด้านเหนือและใต้มีสิงห์ศิลา๒ตัวเป็นสิงห์ขอมสมัยบายน ส่วนสิงห์สัมฤทธิ์อีก๑๒ตัวคงเป็นช่างไทยสมัยนั้นหล่อเลียนแบบขึ้นเช่นกัน

No comments:

Post a Comment